นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง
เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถี ชีวิตและพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศการฤดูเก็บเก็บเกี่ยว เช่น
๑.ระบำชาวนา
ผู้แต่งทำนองเพลงนี้คือ ครูมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ ส่วนท่ารำนั้นท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้คิดและออกแบบท่ารำ
เครื่องแต่งกาย
ตัวละครนั้นจะเป็นชาวบ้านทั้งหญิงและชาย จะเป็นแต่งชุดม่อฮ่อม ซึ่งเป็นชุดที่เรียบง่ายไม่หรูหรา เป็นชุดพื้นบ้าน ที่เห็นแล้วจะจะทำให้รู้ได้เลยว่าการแสดงชุดนี้ต้องเกี่ยวกับการทำนา
การแสดงระบำชาวนา เป็นการแสดงที่ไม่มีการขับร้อง ไม่มีเนื้อเพลง มีเพียงดนตรี ประกอบจังหวะซึ่ง
เป็นดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
ฉาก อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการเกี่ยวข้าว ฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึงได้แก่ เมล็ดข้าว เคียวเกี่ยวข้าว รวงข้าง กระด้ง เป็นต้น
ดนตรีที่ใช้ประกอบ
ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง ดนตรีจะมีจังหวะที่สนุกสนานเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และให้หายเหนื่อยจากการทำนาท่าทางสื่อความหมาย
ท่ารำจะเป็นท่าที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา เป็นขั้นตอนการทำนาตั้งแต่เริ่มหว่านข้าวไถนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น
๒.รำเถิดเทิงกลองยาว
เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่ใช้กลองยาวหลายใบพร้อมทั้งเครื่องตีที่ใช้ประกอบจังหวะได้แก่ ฉิ่ง กรับ โหม่ง และ ฉาบเคาะจังหวะประกอบเสียงกลองยาวท่าทางร่ายรำจะมีหลายท่า จึงจำเป็นที่ผู้ฝึกหัดให้มีความชำนาญจึงจะแสดงเข้ากับจังหวะได้ดี เชื่อกันว่ารำกลองยาวมีถิ่นกำเนิดมาจากชนบท ต่อมากรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงและประดิษฐ์ท่ารำและจังหวะกลองให้สอดคล้องและกลมกลืน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
โอกาสและวิธีการเล่น
นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง เดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป รำด้วยก็ได้ เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืนด้วยกลองรำ หมายถึง ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ กลองยืน หมายถึง ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย เช่น
“มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า”
“ต้อนเข้าไว้ ต้อนเขาไว้ เอาไปบ้านเรา พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า”
“ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละล้า”
ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด – เทิง – บ้อง – เทิง – บ้อง” เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น
ผู้เล่น
ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่าเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกันและปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก
๓.รำเหย่ย
รำเหย่อย เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมเล่นกันในบางหมู่บ้าน บางท้องถิ่นของภาคกลางนอกตัวจังหวัดเท่านั้น ไม่สู้จะแพร่หลายนัก การละเล่นประเภทนี้ดูแทบจะสูญหายไป กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าการเล่นรำเหย่อยมีแบบแผนการเล่นที่น่าดูมาก ควรรักษาให้ดำรงอยู่และแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงได้จัดส่งคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปรับการฝึกหัดและถ่ายทอดการละเล่น เพลงเหย่อยไว้จากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 แล้วนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในโอกาสที่รัฐบาลจัดการแสดงถวายสมเด็จพระรามา
ธิบดีแห่งมาเลเซีย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507
คำร้องแต่งขึ้นตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ่อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่รำเหย่อยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาดผ้า”ลักษณะการแสดง
ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นยิ่งมากยิ่งสนุกสนาน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายกับหญิงแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้อง ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ และผู้รำ เริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องเพื่อให้ผู้เล่น และผู้ดูเกิดความรู้สึก สนุกสนานจากนั้นจังหวะก็เริ่มช้าลง เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายชายก็จะออกมาร้อง และรำ แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารำ
โอกาสที่แสดง
จะนิยมเล่นในเทศกาลวันตรุษสงกรานต์ งานนักขัตฤกษ์ งานมงคลและงานรื่นเริงของชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขตอำเภอพนมทวนเช่น บ้านทวน บ้านห้วยสะพาน บ้านทุ่งสมอ บ้านหนองปลิง บางครั้งก็จะเป็นการเล่นประกอบการเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น การเล่นลูกช่วงรำ ลุกช่วงขี้ข้า หรือประกอบการเล่นเหยี่ยวเฉี่ยวลูกไก่
การแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนต่าง ๆ สีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่ หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ห่มสไบทับเสื้อ มีเครื่องประดับ มีเครื่องประดับ เข็มขัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ
ดนตรีที่ใช้
กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ปี่ รำมะนา กระบอกไม้ไผ่
สถานที่แสดง
แสดงในบริเวณพื้นลานกว้าง ๆหรือนำมาแสดงบนเวที
เนื้อร้องเพลงรำเหย่อย
ชาย มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย
พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย
พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
หญิง ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
ชาย พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย
หญิง มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย
ชาย สวยเอยแม่คุณอย่าช้า รีบรำออกมาเถิดเอย
หญิง รำร่ายกรายวง สวยดังหงส์ทองเอย
ชาย รำเอยรำร่อน สวยดังกินนรนางเอย
หญิง รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย
ชาย เจ้าเคียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
หญิง เจ้าเคียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
ชาย รักน้องจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเลย
หญิง รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
หญิง ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มร้า ช่างไม่เมตตาเสียเลยเอย
หญิง เมียมีอยู่เต็มตัก จะให้น้องรักอย่างไรเอย
ชาย สวยเอยคนดี เมียพี่มีเมื่อไรเอย
หญิง เมียมีอยู่ที่บ้าน จะทิ้งทอดทานให้ใครเอย
ชาย ถ้าฉีกได้เหมือนปู จะฉีกให้ดูใจเอย
หญิง รักจริงแล้วหนอ รีบไปสู่ขอน้องเอย
ชาย ขอก็ได้ สินสอดเท่าไรน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูจีบ ให้พี่รีบไปขอเอย
ชาย ข้าวยากหมากแพง เห็นสุดแรงน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูครึ่ง รีบไปให้ถึงเถิดเอย
ชาย รักกันหนาพากันหนี เห็นจะดีกว่าเอย
หญิง แม่สอนเอาไว้ ไม่เชื่อคำชายเลยเอย
ชาย แม่สอนเอาไว้ หนีตามกันไปเถิดเอย
หญิง พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราแล้วเอย
ชาย พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราพี่เอย
หญิง กำเกวียนกำกง จะต้องจบวงแล้วเอย
ชาย กรรมเอยวิบาก วันนี้ต้องจากแล้วเอย
หญิง เวลาก็จวน น้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย
ชาย เราร่วมอวยพร ก่อนจะลาจรไปก่อนเอย
พร้อมกัน ให้หมดทุกข์โศกโรคภัย สวัสดีมีชัยทุกคนเอย
ชาย มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น